วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ระบบนิเวศ


ระบบนิเวศ
(ECOSYSTEM)



1.  ความหมายของระบบนิเวศ (Ecosystem)
                   ระบบนิเวศเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต   และสิ่งแวดล้อม  เพราะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด  มีการแลกเปลี่ยนสสาร แร่ธาตุ และพลังงานกับสิ่งแวดล้อม  โดยผ่านห่วงโซ่อาหาร (food chain)  มีลำดับของการกินเป็นทอด ๆ ทำให้สสารและแร่ธาตุมีการหมุนเวียนไปใช้ในระบบจนเกิดเป็นวัฏจักร  ทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานไปตามลำดับขั้นเป็นช่วง ๆในห่วงโซ่อาหารได้  การจำแนกองค์ประกอบของระบบนิเวศ ส่วนใหญ่จะจำแนกได้เป็นสององค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ องค์ประกอบที่มีชีวิตและองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต
2.  องค์ประกอบของระบบนิเวศ
                 การจำแนกองค์ประกอบของระบบนิเวศแยกตามหน้าที่ในระบบ ได้แก่พวกที่สร้างอาหารได้เอง (autotroph) และสิ่งมีชีวิตได้รับอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น (heterotroph) อย่างไรก็ตามการจำแนกองค์ประกอบของระบบนิเวศโดยทั่วไปมักประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่มีชีวิต (biotic) และองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (abiotic)

           2.1 องค์ประกอบที่มีชีวิต (biotic component) ได้แก่
                       2.1.1 ผู้ผลิต (producer or autotrophic) ได้แก่สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองได้ จากสารอนินทรีย์ส่วนมากจะเป็นพืชที่มีคลอโรฟิลล์
                       2.1.2 ผู้บริโภค (consumer) ได้แก่สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ (heterotroph) ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่กินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร เนื่องจากสัตว์เหล่านี้มีขนาดใหญ่จึงเรียกว่า แมโครคอนซูมเมอร์ (macroconsumer)
                       2.1.3 ผู้ย่อยสลายซาก (decomposer, saprotroph,osmotroph หรือ microconsumer) ได้แก่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สร้างอาหารเองไม่ได้ เช่น แบคทีเรีย เห็ด รา (fungi) และแอกทีโนมัยซีท (actinomycete) ทำหน้าที่ย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วในรูปของสารประกอบโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นสารประกอบโมเลกุลเล็กในรูปของสารอาหาร (nutrients) เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปใช้ได้ใหม่อีก


        2.2 องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (abiotic component) ได้แก่
                          2.2.1 สารอนินทรีย์ (inorganic substances) ประกอบด้วยแร่ธาตุและสารอนินทรีย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์สิ่งมีชีวิต เช่น คาร์บอน ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำเป็นต้น สารเหล่านี้มีการหมุนเวียนใช้ในระบบนิเวศ เรียกว่า วัฏจักรของสารเคมีธรณีชีวะ (biogeochemical cycle) 
                          2.2.2 สารอินทรีย์ (organic compound) ได้แก่สารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อชีวิต เช่นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และซากสิ่งมีชีวิตเน่าเปื่อยทับถมกันในดิน (humus) เป็นต้น
                          2.2.3 สภาพภูมิอากาศ (climate regime) ได้แก่ปัจจัยทางกายภาพที่มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ แสง ความชื้น อากาศ และพื้นผิวที่อยู่อาศัย (substrate) ซึ่งรวมเรียกว่า ปัจจัยจำกัด (limiting factors)
                         กระบวนการหลักสองอย่างของระบบนิเวศคือ การไหลของพลังงานและการหมุนเวียนของสารเคมี การไหลของพลังงาน (energy flow) เป็นการส่งผ่านของพลังงานในองค์ประกอบของระบบนิเวศ ส่วนการหมุนเวียนสารเคมี (chemical cycling) เป็นการใช้ประโยชน์และนำกลับมาใช้ใหม่ของแร่ธาตุภายในระบบนิเวศ อาทิเช่น คาร์บอน และ ไนโตรเจน  
                        พลังงานที่ส่งมาถึงระบบนิเวศทั้งหลายอยู่ในรูปของแสงอาทิตย์ พืชและผู้ผลิตอื่นๆจะทำการเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานเคมีในรูปของอาหารที่ให้พลังงานเช่นแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต พลังงานจะไหลต่อไปยังสัตว์โดยการกินพืช และผู้ผลิตอื่นๆ  ผู้ย่อยสลายสารที่สำคัญได้แก่ แบคทีเรียและฟังไจ (fungi)ในดินโดยได้รับพลังงานจากการย่อยสลายซากพืชและซากสัตว์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ตายลงไป ในการใช้พลังงานเคมีเพื่อทำงาน สิ่งมีชีวิตจะปล่อยพลังงานความร้อนไปสู่บริเวณรอบๆตัว ดังนั้นพลังงานความร้อนนี้จึงไม่หวนกลับมาในระบบนิเวศได้อีก ในทางกลับกันการไหลของพลังงานผ่านระบบนิเวศ สารเคมีต่างๆสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกระหว่าง สังคมของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต  พืชและผู้ผลิตล้วนต้องการธาตุคาร์บอน  ไนโตรเจน และแร่ธาตุอื่นๆในรูปอนินทรียสารจากอากาศ และดิน
                        การสังเคราะห์ด้วยแสง(photosynthesis)ได้รวมเอาธาตุเหล่านี้เข้าไว้ในสารประกอบอินทรีย์ อาทิเช่น คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน  สัตว์ต่างๆได้รับธาตุเหล่านี้โดยการกินสารอินทรีย์  เมแทบบอลิซึม (metabolism) ของทุกชีวิตเปลี่ยนสารเคมีบางส่วนกลับไปเป็นสารไม่มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมในรูปของสารอนินทรีย์ การหายใจระดับเซลล์(respiration) เป็นการทำให้โมเลกุลของอินทรียสารแตกสลายออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ การหมุนเวียนของสารสำเร็จลงได้ด้วยจุลินทรีย์ที่ย่อยอินทรียสารที่ตายลงและของเสียเช่นอุจจาระ และเศษใบไม้    ผู้ย่อยสลายเหล่านี้จะกักเก็บเอาธาตุต่างๆไว้ในดิน ในน้ำ และในอากาศ ในรูปของ สารอนินทรีย์ ซึ่งพืชและผู้ผลิตสามารถนำมาสร้างเป็นสารอินทรีย์ได้อีกครั้ง หมุนเวียนกันไปเป็นวัฏจักร


3. ระดับการกินอาหาร (trophic levels)
                ความสัมพันธ์ของการกินอาหารเป็นตัวกำหนดเส้นทางของการไหลของพลังงานและวัฏจักรเคมีของระบบนิเวศ จากการวิเคราะห์การกินอาหารในระบบนิเวศทำให้นักนิเวศวิทยาสามารถ แบ่งชนิดของระบบนิเวศออกได้ตามแหล่งอาหารหลักของระดับการกิน(trophic level)


 3.1 ระดับการกินอาหาร และห่วงโซ่อาหาร (trophic level and food web) ลำดับการถ่ายทอดอาหารจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับเรียกว่า ห่วงโซ่อาหาร (food chain)   สัตว์พวก herbivore เป็นสัตว์กินพืช สาหร่ายและแบคทีเรีย จัดเป็นผู้บริโภคแรกเริ่ม (primaryconsumers)  (carnivore) ซึ่งจะกินผู้บริโภค เรียกว่าผู้บริโภคลำดับสอง (secondary consumers) ได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเล็ก สัตว์ฟันแทะ นก กบ และ แมงมุม สิงโตและสัตว์ใหญ่ที่กินพืช(herbivores)   ในนิเวศแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็กที่กินแพลงค์ตอนสัตว์ (zooplankton) รวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังใต้ท้องน้ำ  ระดับการกินที่สูงขึ้นมาอีกคือผู้บริโภคลำดับสาม(tertiary consumers) ได้แก่งู ที่กินหนู บางแห่งอาจมีผู้บริโภคลำดับสี่ (quaternary consumers) ได้แก่นกฮูกและปลาวาฬ
           ห่วงโซ่อาหารจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่มีผู้ย่อยสลาย(detritivore หรือ decomposer) ได้แก่ จุลินทรีย์ (โพรแคริโอต และ  ฟังไจ)  ซึ่งจะเปลี่ยน อินทรียสารเป็นอนินทรียสาร ซึ่งพืชและผู้ผลิตอื่น ๆสามารถ นำกลับไปใช้ได้อีก พวก scavenger  คือสัตว์ที่กินซาก เช่น ไส้เดือนดิน สัตว์ฟันแทะและแมลงที่กินซากใบไม้ สัตว์ที่กินซากอื่นๆได้แก่ ปูเสฉวน ปลาดุก และอีแร้ง เป็นต้น


 3.2 สายใยอาหาร (food web) ระบบนิเวศจำนวนน้อยที่ประกอบไปด้วยห่วงโซ่อาหารเดี่ยวๆโดยไม่มีสาขาย่อยๆ ผู้บริโภคแรกเริ่มหลายรูปแบบมักจะกินพืชชนิดเดียวกันและผู้บริโภคแรกเริ่มชนิดเดียวอาจกินพืชหลายชนิดดังนั้นสาขาย่อยของห่วงโซ่อาหารจึงเกิดขึ้นในระดับการกินอื่นๆด้วย ตัวอย่างเช่น กบตัวเต็มวัยซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสองกินแมลงหลายชนิดซึ่งอาจถูกกินโดยนกหลายชนิด นอกจากนี้แล้ว ผู้บริโภคบางชนิดยังกินอาหารในระดับการกินที่แตกต่างกัน นกฮูกกินหนูซึ่งเป็นผู้บริโภคแรกเริ่มที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด แต่นกฮูกอาจกินงูซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่กินเนื้ออีกด้วย สิ่งมีชีวิตที่กินทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ด้วย(omnivore) จะกินทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในระดับการกินต่างๆ ดังนั้นความสัมพันธ์เชิงการกินอาหารในระบบนิเวศจึงถูกถักทอให้มีความละเอียดซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นสายใยอาหาร (food web) 

  3.3  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างชนิดกัน  (Interspecific Interactions in Community)  
              สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในสังคมต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน อาจมีทั้งพึ่งพาและแก่งแย่งกัน ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆทำให้สิ่งมีชีวิตมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันซึ่งแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆได้แก่ การแก่งแย่ง (competition) การล่าเหยื่อ (predation) และภาวะอยู่ร่วมกัน (symbiosis) ซึ่งแต่ละแบบทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับตัวด้านวิวัฒนาการ ผ่านทางการคัดเลือกธรรมชาติมา การเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่างๆดังกล่าว ทำให้เข้าใจถึงการ
เปลี่ยนแปลงประชากรในสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
                      3.3.1 การแก่งแย่งระหว่าง สปีชีส์  (Competition between Species) เมื่อประชากรของสังคมมี สองสปีชีส์ หรือมากกว่าและ อาศัยแหล่งทรัพยากรจำกัดที่คล้ายกันเรียกว่ามี การแก่งแย่งระหว่างปีชีส์เกิดขึ้น

                  3.3.2  การล่าเหยื่อ (predation)  ในชีวิตประจำวัน คำว่า สังคม ดูจะมีความอ่อนโยนละมุนละม่อมเป็นการช่วยเหลือกันอย่างอบอุ่น เรียกว่าcommunity spirit ในทางกลับกัน ความเป็นจริงแบบดาร์วิน (Darwinian Realities) ของการแก่งแย่งและผู้ล่า ซึ่งสิ่งมีชีวิตหนึ่งจะกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน เรียกว่า ผู้ล่า(predator) และชนิดที่เป็นอาหาร เรียกว่าเหยื่อ(prey) พืชที่ถูกสัตว์กินเป็นอาหาร และการแทะเล็มหญ้าถึงแม้จะไม่ถูกทำลายทั้งต้นก็จัดเป็นเหยื่อเช่นกัน ลักษณะของผู้ล่าและเหยื่อเป็นองค์ประกอบทางวิวัฒนาการที่จำเป็นต้องอยู่รอด การคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นตัวกลั่นกรองการปรับตัวทั้งของเหยื่อและผู้ล่า เช่นลักษณะการมีอุ้งเล็บ ฟันและ เขี้ยวที่แหลมคม  มีเหล็กไนที่มีสารพิษ หรือมีต่อมพิษ ที่สามารถทำให้เหยื่อสยบลงได้ บางชนิดมีการพรางตัวเพื่อใช้ล่อเหยื่อให้หลงผิดหรือตายใจ
                           การป้องกันตัวของพืชต่อสิ่งมีชีวิตกินพืช (herbivore) เพราะพืชไม่อาจจะวิ่งหนีได้ จึงต้องมีโครงสร้างที่เป็นหนามและขนแข็ง พืชบางชนิดสร้างสารนิโคตินและสารมอร์ฟีน บ้างก็ผลิตสารเคมีเลียนแบบฮอร์โมนสัตว์ ทำให้สัตว์ที่หลงมากินได้รับอันตรายและเกิดอาการผิดปกติขึ้นในพัฒนาการของร่างกาย หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้
                              สัตว์จะใช้วิธีการหลายอย่างในการป้องกันตัวเองจากผู้ล่า อาทิ เช่น การหลบหนี การซ่อนตัว  การหนีเอาตัวรอดเป็นพฤติกรรมการตอบสนองต่อผู้ล่าอย่างปกติ  นอกจากนี้ยังมีการใช้เสียงเตือน  การเลียนแบบ การเสแสร้งเพื่อหลอกให้เหยื่อตามไป รวมทั้งการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้กับผู้ล่าเป็นต้นผู้ล่าจะใช้วิธีการเลียนแบบในหลายด้าน เช่น  ตะพาบน้ำบางชนิดมีลิ้นลักษณะคล้ายกับตัวหนอน ลวงให้ปลาขนาดเล็ก หรือปลาชนิดต่างๆที่ต้องการจะกินเหยื่อเข้าใจผิดและเข้ามาใกล้ปากของตะพาบน้ำ ในที่สุดก็ถูกตะพาบน้ำงับกินเป็นอาหารด้วยขากรรไกรที่แข็งแรง

                       
4. ความสัมพันธ์แบบการอยู่ร่วมกัน (symbiotic relationships) การอยู่ร่วมกันเป็น        ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ ซึ่งสปีชีส์หนึ่ง เรียกว่า symbiont อาศัยอยู่บนอีกสปีชีส์หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า โฮสต์ (host) มี 2 แบบ คือ แบบปรสิต (parasitism) และแบบ ภาวะพึ่งพา (mutualism)
                      4.1 ภาวะปรสิต (parasitism) สิ่งมีชีวิตหนึ่งได้ประโยชน์ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับอันตรายโดยปกติ สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กกว่าจะได้รับสารอาหารจากโฮสต์ ซึ่งเป็นรูปแบบพิเศษแบบหนึ่งของการล่าเหยื่อ พยาธิตัวตืด โพรโทซัวก่อโรคไข้มาเลเรีย เป็นตัวอย่างของปรสิตภายใน ส่วนปรสิตภายนอก ได้แก่ยุงดูดเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ เพลี้ยต่างๆที่ดูดน้ำเลี้ยงจากพืช การคัดเลือกโดยธรรมชาติ เป็นผู้กลั่นกรองความสัมพันธ์ระหว่างปรสิตกับโฮสต์    ปรสิตจำนวนมาก โดยเฉพาะจุลินทรีย์ได้ปรับตัวเป็นตัวเบียฬจำเพาะ 

                     4.2 ภาวะพึ่งพา (mutualism) เป็นการอยู่ร่วมกันที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น   สาหร่าย ( algae) กับรา(fungi) ในพวกไลเคน (lichen)   ปูเสฉวนและดอกไม้ทะเล ไมคอไรซาในรากพืช  มดอาศัยบนต้นอะเคเซีย (Acacia sp.) และโพรโทซัวอาศัยอยู่ใน ลำไส้ปลวก เป็นต้น


5. ภาวะอิงอาศัยหรือภาวะเกื้อกูล (commensalism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ส่วน อีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เช่น พลูด่างกับต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้กับต้นไม้ ปลาฉลามกับเหาฉลาม (shark sucker)




อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” 
ความหมายสิ่งแวดล้อม 
รูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรวัฏจักรสิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ
สิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็นลักษณะกว้าง ๆ ได้ 2 ส่วนคือ
·         สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร

สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม
มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลย์ของตัวเองได้
กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น 
        ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ        
หาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา
·       
           ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

ภาวะโลกร้อนความเครียดของโลก
ปัจจุบัน ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมดีหรือไม่ดีล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนพลโลกกันถ้วนหน้า
            ในประเทศไทยเอง ...เรื่องราวของการตรวจสอบมลพิษในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก็กำลังเข้มข้น เป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
            
        ในระดับโลก...ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันมีสาเหตุจากปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญ ก็กำลังได้รับความสนใจยิ่ง     
         เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็ได้ออกมาย้ำว่าคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernment Panel on Climate Change, IPCC) กำลังประชุมกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตรวจ (ร่าง) รายงานว่าด้วยเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 นี้

 รายงานดังกล่าว รวบรวมงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ 2,500 คน จากกว่า 130 ประเทศ โดยใช้เวลาในการรวบรวมถึง 6 ปี 
            เนื้อหาเด่นของรายงานระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 90 เปอร์เซนต์ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว รายงานระบุความเป็นไปได้อยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์(สรุปก็คือ รายงานได้เพิ่มความน่าเชื่อถือว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน)
   ในรายงาน ยังได้นำเสนอผลการประเมินแนวโน้มที่ว่า ในช่วงศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2.0-4.5 องศาเซลเซียส
                แม้หลายประเทศที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร รวมทั้งประเทศไทยสัมผัสอากาศร้อนจนเคยชิน คนไทยหลายคนจึงไม่ค่อยตื่นตัวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่กี่องศาที่เพิ่มขึ้นนั้น จะกระทบกับกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นอย่างไร?” แต่หลักฐานผลการวิจัยของปัญหาอันอาจมีสาเหตุจากโลกร้อนหลายชิ้นทั่วโลก ที่ทยอยเผยแพร่ออกมาในช่วง 2 –3 ปีที่ผ่านมา เช่น
-          พืชอย่างดอกเชอร์รี่ และองุ่น ออกดอกและผลเร็วกว่าปกติ
-          เพนกวินจักรพรรดิในทวีปแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ มีจำนวนคู่ผสมพันธุ์ลดลงจาก 300 คู่ เหลือเพียง 9 คู่
-          องค์การอนามัยโลกได้สำรวจการแพร่ระบาดของมาลาเรียในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ามาลาเรียได้ขยายวงจากสามประเทศ ไปถึงรัสเซียกับอีก 6 ประเทศใกล้เคียงและอีกหลายๆ ผลการวิจัย [น้ำท่วม คลื่นความร้อนสูง พื้นที่แห้งแล้ง ภูเขาน้ำแข็งละลาย (ที่กระทบต่อปริมาณน้ำทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง) ฯลฯ ] ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาร่วมกันของประเทศไทยกับประเทศอื่นทั่วโลก
ภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไร ? 
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัด และในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
มีก๊าซจำนวนมากที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น แต่ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต มีเพียง 6 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic greenhouse gas emission) เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ทั้งนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว



ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อม 
สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
สาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
1. การเพิ่มของประชากร (Population growth) ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน
2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
ผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ
ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ
ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำ ในอากาศและเสียง มลพิษในอาหาร สารเคมี อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง
มลพิษทางอากาศ 
 โลกของเรามีชั้นของบรรยากาศห่อหุ้มอยู่โดยรอบหนาประมาณ 15 กิโลเมตร ชั้นของบรรยากาศดังกล่าวนี้ประกอบด้วย ก๊าซไนโตรเจน ออกซิเจน ฝุ่นละอองไอน้ำ และเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในจำนวนก๊าซเหล่านี้ ก๊าซที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงอยู่ของ สิ่งมีชีวิตในโลก คือ ก๊าซออกซิเจนและชั้นของบรรยากาศที่มีก๊าซออกซิเจนเพียงพอ ต่อการดำรงชีวิตมีความหนาเพียง 5 - 6 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งปกติจะมีส่วนประกอบ ของก๊าซต่าง ๆ ค่อนข้างคงที่ คือ ก๊าซไนโตรเจน 78.09% ก๊าซออกซิเจน 20.94% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเฉื่อย 0.97%ในปริมาณคงที่ของก๊าซดังกล่าวนี้ เราถือ ว่าเป็นอากาศบริสุทธิ์แต่เมื่อใดก็ตามที่ส่วนประกอบของอากาศเปลี่ยนแปลงไปมีปริมาณ ของฝุ่นละออง ก๊าซ กลิ่น หมอกควัน ไอ ไอน้ำ เขม่าและกัมมันตภาพรังสีอยู่ในบรรยา กาศมากเกินไป เราเรียกสภาวะดังกล่าวว่า อากาศเสียหรือ มลพิษทางอากาศ
ความหมาย ของ มลพิษทางอากาศ 
มลพิษทางอากาศ หมายถึง ภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลา นานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ก๊าซธรรมชาติอากาศเสียที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก เพราะแหล่งกำเนิดอยู่ไกลและปริมาณที่เข้าสู่สภาพ แวดล้อมของมนุษย์และสัตว์มีน้อย กรณีที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ มลพิษจากท่อไอเสีย ของรถยนต์จากโรงงานอุตสาหกรรมจากขบวนการผลิตจากกิจกรรมด้านการเกษตรจากการระเหย ของก๊าซบางชนิด ซึ่งเกิดจากขยะมูลฝอยและของเสีย เป็นต้น
แหล่งกำเนิดสารมลพิษทางอากาศ 
แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1.ยานพาหนะ 
ยานพาหนะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศจำกัดเฉพาะในเขตชุมชนขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ปัญหามลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง
แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ 
 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจากภาคเกษตรกรรม มาเป็นภาคอุตสาหกรรมทำให้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจและความเจริญมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเข้าขั้นวิกฤต และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การจราจรที่ติดขัดทำให้รถเคลื่อนตัวได้ด้วยความเร็วต่ำ มีการหยุดและออกตัวบ่อยครั้ง ขึ้นน้ำมันถูกเผาผลาญมากขึ้น การสันดาปของน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ และมีการระบายสารมลพิษทางท่อไอเสียในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบริเวณที่ใกล้ถนนที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่า ในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศที่เกิดจาก การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สารตะกั่วและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

2. แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรม 
 มลพิษทางอากาศจากแหล่ง กำเนิดอุตสาหกรรม เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผล กระทบต่อคุณภาพอากาศในบรรยากาศและอาจส่งผล กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน โดยทั่วไปหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง
เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว ได้แก่ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล
เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซ LPG

สารมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งพบว่ามีปริมาณการระบายออกสู่บรรยากาศเพิ่มมากขึ้นทุกปีตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
มลพิษจากแสงอาทิตย์ 
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น แสงแดดอ่อน ๆ จากดวงอาทิตย์จะทำให้สุขภาพของร่างกายและจิตใจรื่นรมย์ขึ้น เสมือนว่าได้รับการชำระล้างความสกปรกหมักหมมที่ผ่านมาตลอดวันและคืน เราจึงนิยมผึ่งแดดในยามเช้า แต่พอสาย แสงแดดกล้าขึ้น ร่างกายและจิตใจที่เบิกบานจะค่อย ๆ ลดลง ๆ ผิวอันนวลเนียนจะเริ่มระคายเคือง ถ้าตากแดดต่อไปนาน ๆ ผิวจะเกรียมเป็นสีน้ำตาล ใบหน้าลอก และมีฝ้าเกิดขึ้น เกิดโรคแพ้ภูมิคุ้มกัน เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย
ที่จริงแล้ว แสงแดดจากดวงอาทิตย์มีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ต่อวิทยาศาสตร์ และต่อโลกอย่างมหาศาล เช่น คนในเขตร้อนมักไม่ค่อยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เนื่องจากได้รับแสงแดดเพียงพอในการสังเคราะห์วิตามินดี-3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อการบำรุงกระดูก หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำรังสีอุลตราไวโอเลตจากการสังเคราะห์มาใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมีได้
แสงอาทิตย์ประกอบด้วยแสงต่าง ๆ ทั้งชนิดที่ตามองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แสงหรือรังสีอันตราย คืออัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นรังสีประเภทที่ตามองไม่เห็น คือ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่ตามองเห็นได้ รังสีอุลตราไวโอเลตมี 2 ชนิด คือ อัลตราไวโอเลต-เอ มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 320-400 นาโนเมตร และอุลตราไวโอเลต-บี มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 290-320 นาโนเมตร
ความเป็นพิษของรังสีอุลตราไวโอเลต เกิดจากรังสีนี้เมื่อไปกระทบกับผิวหนังจะทำอันตรายต่อเซลล์ของร่างกาย จากการศึกษาวิจัยพบว่า กรดอะมิโน ซึ่งมีอยู่ในโปรตีนในร่างกายดูดกลืนรังสีนี้ได้ดี และทำให้เกิดสารพิษในร่างกายขึ้นหลายชนิด ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งที่ผิวหนัง
กรดในร่างกายอีกชนิดหนึ่ง คือ กรดนิวคลีอิคก็สามารถดูดกลืนรังสีนี้ได้ แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นผลร้ายต่อกรรมพันธุ์ ทำให้ลูกหลานที่เกิดมามีลักษณะผิดปกติ ผ่าเหล่าผ่ากอ
รังสีอุลตราไวโอเลต มีอันตรายต่อเซลล์ของร่างกาย โดยทางอ้อมอีกด้วย คือ เมื่อเซลล์หนึ่งดูดกลืนรังสีนี้ไว้ ทำให้เกิดสารพิษชนิดหนึ่งขึ้นมา สารพิษที่เกิดขึ้นนี้จะไปทำอันตรายเซลล์อื่นต่อ ๆ ไป นอกจากนี้รังสีชนิดนี้ยังทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้อีกด้วย
รังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศในชั้นต่าง ๆ มาสู่ผิวโลกเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์ ถ้าหากเราได้รับแสงมฤตยูนี้โดยตรง บรรดาพืชพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะถูกทำลายโดยสิ้นเชิง
นับว่าเป็นโชคดีของมนุษย์ที่ในบรรยากาศในชั้นสตราโตสเฟียร์ ยังมีก๊าซโอโซนที่มีความสามารถดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเลตได้ดี ทำให้รังสีผ่านลงมายังพื้นโลกน้อยลง
แต่ปัจจุบันนี้ เราพบว่าปริมาณของโอโซนในบรรยากาศเหนือพื้นโลก นับวันจะมีน้อยลงทุกที ผู้ที่ทำลายก็คือ มนุษย์รักสวยรักงามในโลกเรานี่เอง มนุษย์ผู้นิยมสเปรย์ฉีดผม สเปรย์ฆ่าแมลง สเปรย์น้ำหอมปรับอากาศ สเปรย์ระงับกลิ่นตัว ในสเปรย์มีสารเคมีชนิดหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้สารในกระป๋องพ่นออกมาเป็นละออง เกสรเคมีที่เป็นตัวผลักดันนี้ คือ ฟลูออโรคาร์บอน หรือที่เรียกว่า ฟรีออน สารชนิดนี้เมื่อออกมาจากกระป๋องสเปรย์แล้ว จะให้โอโซนสลายตัวมีปริมาณลดลง มีตัวที่จะสกัดกั้นรังสีอุลตราไวโอเลตน้อยลง เป็นผลให้รังสีผ่านสตราโตสเฟียร์มายังโลกมากขึ้นเป็นอันตรายแก่มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
การป้องกันอันตรายจากรังสีอุลตราไวโอเลต ต้องพยายามหลีกเลี่ยงแสงสว่างที่มีความเข้มสูง ธรรมชาติของร่างกายมีกลไกในการป้องกันแสงอาทิตย์อยู่แล้ว คือ ผิวหนังชั้นนอกร่างกายมีสารให้สีหรือที่เรียกว่า รงวัตถุ ขนหรือเกล็ดของสัตว์สามารถกรองหรือกระจายแสงได้ และยังมีเอนไซม์บางชนิดสามารถฆ่าฤทธิ์พิษที่เกิดขึ้นจากรังสีอุลตราไวโอเลต
ในความเป็นพิษเป็นภัยของแสงอุลตราไวโอเลตนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบสารที่เป็นคุณแฝงอยู่ด้วย ในปี พ.ศ. 2471 มีผู้พบว่าสีย้อม (dye) บางชนิด เช่น ไทอาซินดาย เมทิลิน บลู (4) Thiazine dye methylene blue (IV) หรือสีย้อมพวกแซนทีนที่มีฮาโลเจนอยู่ด้วย (halogenated fluorescein family of xanthene) สีจำพวกนี้เมื่อถูกกับรังสีอุลตราไวโอเลต จะเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษต่อแมลง ซึ่งนำมาใช้กำจัดแมลงได้
ชาวอียิปต์โบราณพบว่าพืชแอมมินาจัส (Amminajus) ซึ่งขึ้นอยู่ตามแม่น้ำไนล์ มีสารชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อถูกแสงอาทิตย์จะกลายเป็นยารักษาโรค ใช้ในการบำบัดรักษาโรคผิวหนัง ปัจจุบันนี้เราพบว่าสารนี้คือ ซอราเลนส์ (Psoralens) จึงได้มีผู้หันมาใช้สารนี้ในการบำบัดโรคมะเร็งได้
เราควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเที่ยงถึงบ่าย ซึ่งเป็นเวลาแดดจัด มีความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลตสูง เพื่อป้องกันมิให้เซลล์ในร่างกายถูกแสงแดดทำลาย เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นได้ โดยเฉพาะหน้าร้อนในขณะนี้ อย่าเดินตากแดดโดยไม่มีหมวกหรือร่มหรือแว่นตากันแดด ซึ่งนอกจากจะทำให้ผิวหนังแห้งเกรียม หน้าลอก เป็นฝ้า ตาเป็นต้อกระจก เป็นโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ แล้ว ยังทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังอีกด้วย
มลภาวะจากกัมมันตะรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ 
รังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งได้จากการสลายตัวของกัมมันตภาพวัตถุกลายเป็นธาตุต่าง ๆ ธาตุกัมมันตภาพรังสีที่สำคัญมีอยู่ 2 ตระกูลคือ ยูเรเนี่ยม (Uranium) และทอเรี่ยม (Thorium) ธาตุทั้งสองนี้ต่างก็สลายตัวเป็นธาตุต่าง ๆ หลายธาตุที่น่าสนใจคือ ตระกูลยูเรเนี่ยมให้ธาตุเรดอน (Radon) และตระกูลทอเรี่ยมให้ธาตุโทรอน (Thoron) ทั้งเรดอนและโทรอน มีสภาพเป็นก๊าซลอยขึ้นมาจากพื้นดินขึ้นสู่อากาศอยู่ตลอดเวลา ธาตุทั้ง 2 นี้ จะส่งกัมมันตรังสีออกเป็นหลายช่วง กลายเป็นธาตุต่าง ๆ ดังนั้นทุกครั้งที่เราหายใจเอากาศเข้าปอด ย่อมได้รับส่วนของรังสีของธาตุต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเข้าไปด้วย จากการติดตามข่าว ปรากฎว่าทางภาคอีสานมีธาตุกัมมันตรังสีอยู่ ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมาจนถึงจังหวัดขอนแก่น ส่วนทางภาคใต้ก็มีขี้แร่ดีบุก พวกโมโนไซด์เป็นแร่ธาตุที่มีกัมมันตรังสีอยู่เช่นกัน แถวสงขลา นราธิวาส ขณะนี้ทำเป็นเม็ดยูเรเนี่ยมได้แล้ว ส่วนทางภาคเหนือยังไม่มีการสำรวจ คาดว่าคงจะพบเช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้รับรังสีก็ย่อมมี นอกจากนั้นสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม ยังได้วิจัยเพื่อวัดปริมาณของเรดอนและโทรอน โดยดูดอากาศกลางแจ้งผ่านกระดาษกรองเผาเป็นเถ้าเพื่อลดปริมาณของกระดาษกรอง แล้ววัดปริมาณของรังสีมีผลเฉลี่ยที่น่าสนใจ คือ ในฤดูหนาวมีลมพัดจากแผ่นดินใหญ่จีนเข้าสู่ประเทศไทยทางทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ จะนำเอาก๊าซทั้งสองชนิดเข้ามาโดยมีค่าเฉลี่ยดังนี้
เรดอน (Radon) 186 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาศก์เมตร
โทรอน (Thoron) 5 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนมีลมพัดมาจากทิศใต้ ผ่านทะเลเป็นส่วนใหญ่ ผ่านแผ่นดินน้อย การวัดพบว่า มีก๊าซทั้งสองน้อยกว่าฤดูหนาวมีคือ
เรดอน (Radon) 122 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาศก์เมตร
โทรอน (Thoron) 3 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาสก์เมตร
ผลเฉลี่ยตลอดปีของประเทศไทยมีดังนี้
เรดอน (Radon) 120 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาศก์เมตร
โทรอน (Thoron) 3 ปิโกคูรี่ต่อลูกบาศก์เมตร
มวลสารทั้งหลายประกอบไปด้วยอนุภาคเล็ก ๆ ที่เราเรียกว่า อะตอม (Atom) หรือภาษาราชการเรียกว่า ปรมาณู แต่ละอะตอมประกอบด้วย นิวเคลียส (Nucleus) เป็นแกนกลางมีบริเวณวิ่งรอบเรียกว่า อีเล็กตรอน (Electron) คล้าย ๆ พระจันทร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ ตัวอย่างเช่น คาร์บอน 12 แสดงเป็นรูปข้างล่างนี้
ในแต่ละธาตุประกอบด้วยโปรตอนและนิวตรอนอยู่ในนิวเคลียส ซึ่งจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสนี้เรียกว่า "เลขอะตอม" (Atomic number) แต่ละธาตุจะมีจำนวนต่างกัน ตัวอย่างเช่น อะตอมของไฮโดรเจนมีโปรตอน 1 อนุภาค อะตอมของยูเรเนี่ยมมีโปรตอน 92 อนุภาค ธาตุเดียวกันมีโปรตอนเท่ากัน แต่อาจจะมีนิวตรอนต่างกันได้ สิ่งนี้เองเป็นเหตุให้ธาตุเดียวกันแบ่งออกได้อีกหลายชนิด แต่ละชนิดมีมวล (Mass) ไม่เท่ากัน เช่น โปรเตียม เขียนได้ดังนี้ 1H1 (1P + 1N) คิวเทียม 1H2 (1P + 2N) ทริเตียม 1H3 (1P + 3N) ซึ่งก็เนื่องมาจากมีจำนวนนิวตรอนต่างกันนั่นเอง และมีชื่อเรียกแต่ละชนิดนี้ว่าเป็น ไอโซโทป (Isotope) ของธาตุนั้น ๆ ไอโซโทปแบ่งออกได้เป็น พวก คือ ไอโซโทปที่อยู่ตัว (Stable Isotope) และไอโซโทปที่ไม่อยู่ตัว มีการแผ่รังสีออกมาเรียกว่า เรดิโอไอโซโทป (Radio Isotope) เพื่อให้เข้าใจง่ายเข้า รังสีไอโซโทป (Isotope) ก็คือ อะตอมของธาตุที่มีอะตอมมิกนัมเบอร์ (Atomic number) อันเดียวกัน คุณสมบัติทางนิวตรอน (neutron) ต่างกัน และมีน้ำหนักต่างกันด้วย คุณสมบัติทางฟิสิกส์ต่างกัน แต่ทางเคมีเกือบเหมือนกันทุกประการจะต่างกันก็ที่อัตราความเร็วในการทำปฏิกริยาเท่านั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของธาตุนั้น ๆ ตามธรรมชาติ
ธาตุบางชนิด จะมีการแผ่รังไอโซโทปออกไปไม่หยุดยั้ง เช่น ธาตุยูเรเนียม (Uranium) ทอเรี่ยม (Thorium) และธาตุเรเดียม (Radium) เป็นรังสีที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น อีเล็กตรอนของธาตุเหล่านี้จะแผ่รังสีให้รังสีเอ๊กซ์ (X-ray) รังสีเอ๊กซ์ก็คือ รังสีที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ประมาณตั้งแต่ 1016 ถึง 1021 เฮิร์ตซ์ (Herzt) (เฮิร์ตซ์ ก็คือ คำนวนความถี่ของลูกคลื่นในหนึ่งหน่วยเวลา) แต่ถ้ารังสีที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 4 x 10-7 = 0.0,000,007 เมตร เป็นกลุ่มรังสีที่ประสาทตาของเรารับรู้ได้ เราเรียกว่าแสง (Light) ส่วนนิวเคลียส (Nucleus) ก็จะแผ่รังสีออกมาเป็นรังสีอัลฟา (Alpha rays) รังสีเบต้า (Bata rays) และรังสีแกมม่า (Gamma rays) ซึ่งรังสีแกมม่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ประมาณ 1019 ถึง 1022 เฮิร์ตซ์ (ส่วนรังสีอัลฟาและเบต้า ไม่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) รังสีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์เพราะเป็นรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตภาพวัตถุ ซึ่งสามารถทะลุทะลวงผ่านผิวหนังของคนได้ บางชนิดสามารถทะลุทะลวงแผ่นเหล็กหนาหนา 25 เซนติเมตร กระดาษ แผ่นอลูมิเนียม แผ่นตะกั่วที่มีความหนา 8 เซนติเมตร หรือกำแพงซีเมนต์ได้ ซึ่งแสดงว่า รังสีเหล่านี้เป็นอันตราย ถ้าผ่านร่างกายของมนุษย์ก็จะทำลายเซลล์ในร่างกาย (ดูภาพประกอบ)
อันตรายจากรังสี
เมื่อรังสีเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจะเกิดอาการผิดปกติทั้งภายนอกและภายใน เช่น ผมร่วง ผิวหนังไหม้เกรียม เป็นแผลเรื้อรัง เป็นมะเร็ง เป็นอันตรายต่อระบบประสาท หัวใจ เม็ดเลือด และทำให้การไหลเวียนของโลหิตเสียไป ถ้าได้รับรังสีเข้าไป 400 เร็ม-500 เร็ม มีโอกาสตาย 50% ถ้าได้รับ 1,000 เร็ม ตาย 100% อาการหลังจากถูกรังสีเป็นปริมาณ 100 เร็ม-250 เร็ม มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนเป็นอยู่ 2 สัปดาห์ ถ้ามากกว่า 700 เร็ม ผมร่วง เจ็บคอ ตกโลหิตที่อวัยวะภายใน ตกโลหิตที่ผิวหนัง ทางเดินอาหาร มีอาการเปลี่ยนแปลงทางโลหิต
1. อันตรายของรังสีต่อเซลล์ในร่างกาย มีคือ
   ก. มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โดยมากมักจะเป็นกับเด็กที่รับการรักษาทางด้านรังสี พวกแพทย์ พยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านรังสี
   ข. มะเร็งที่กระดูก โดยเฉพาะเรเดี่ยม มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับธาตุแคลเซียม จะเกาะ กระดูกแล้วแผ่รังสีออกมาทำให้เป็นมะเร็งที่กระดูก
   ค. มะเร็งที่ปอด หายใจเอากัมมันตรังสีเป็นก๊าซปะปนเข้าไป ทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่ปอดได้
   ง. มะเร็งที่ต่อมทัยรอยด์
   จ. ผลเสียจากรังสีทำให้คนอายุสั้น เช่น แพทย์รังสีมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าแพทย์ทั่ว ๆ ไป
   ฉ. ผลเสียต่อเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กออกมาพิการ อ่อนแอ ไม่ แข็งแรง เป็นต้น
2. หน่วยวัดปริมาณของรังสี หน่วยวัดรังสีเป็น เรินต์เกน (Roentgen) สำหรับรังสีในร่าง กายมีหน่วยเป็น เร็ม (Rem) ย่อมาจากภาษาอังกฤษคือ "Roentgen equivalent man" องค์การระหว่างประเทศกำหนดว่าปริมาณของรังสี โดยเอาอายุคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี คือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์มาเป็นเกณฑ์คำนวน คือ ปริมาณรังสีสะสมที่ได้รับสูงสุดแต่ละบุคคลที่ทำงานแล้วไม่เกิดอันตราย-5 (N-18) เร็ม
N- อายุของบุคคลนั้นโดยถ้าอายุ 18 ปี จะต้องได้รับปริมาณรังสี 5 เร็ม เป็นค่ามากที่สุดที่จะไม่เกิดอันตราย
ภาวะเรือนกระจก
มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงระบบการไหลเข้าออกของพลัง งานความร้อนจากดวงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่มีการควบคุมขึ้น สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของโลก การเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของชั้นบรรยากาศ และความผันแปรของภูมิอากาศตามธรรมชาติ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ก่อมลพิษทางอากาศ ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนซึ่งปกป้องผิวโลก และก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้น
 
โลกของเรามีก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่โดยรอบ ทำหน้าที่คล้ายเรือนกระจก หรือกรีนเฮาส์เป็นเกราะกำบังกรองความร้อนที่จะผ่านลงมายังพื้นผิวโลก และเก็บกักความร้อนบางส่วนเอาไว้ ทำให้โลกมีอุณหภูมิพอเหมาะสำหรับการดำรงชีวิต
แต่ในปัจจุบัน มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกอย่างร้ายแรง โดยการก่อและใช้สารเคมีบางชนิดในกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำลายเกราะป้องกันของโลก และก๊าซบางชนิดยังก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก GREENHOUSE EFFECT โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนหนาแน่นขึ้น ทำให้เก็บกักความร้อนได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิอากาศของโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่าง ๆ และมหาสมุทรจะขยายตัวจนเกิดน้ำท่วมได้ในอนาคต
ก๊าซเรือนกระจก มาจากไหน ?
 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซชนิดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เป็นตัวการสำคัญที่สุดของปรากฎการณ์เรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า การตัดไม้ทำลายป่า
 ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากของเสียจากสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย การทำนาที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินก๊าซธรรมชาติ และการทำเหมืองถ่านหิน
 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการใช้ปุ๋ยไนเตรดในไร่นา การขยายพื้นที่เพาะปลูก การเผาไหม้ เผาหญ้า มูลสัตว์ที่ย่อยสลาย และเชื้อเพลิงถ่านหินจากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในขบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมี หรืออุตสาหกรรมพลาสติกบางชนิด
 คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon- CFsC) เป็นก๊าซที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในเครื่องทำความเย็นชนิดต่าง ๆ เป็นก๊าซขับดันในกระป๋องสเปรย์ และเป็นสารผสมทำให้เกิดฟองในการผลิตโฟม เป็นต้น ซีเอฟซี มีผลกระทบรุนแรงต่อบรรยากาศ ทั้งในด้านทำให้โลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก และทำลายบรรยากาศโลกจนเกิดรูรั่วในชั้นโอโซน


สภาวะสิ่งแวดล้อมของโลก : กัมมันตภาพรังสี
เรื่องของผมค่อนข้างน่าสะพึงกลัว และค่อนข้างจะน่ารังเกียจอย่างหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรังสีซึ่งท่านกลัวกันอยู่ ผมขอจำกัดขอบเขตการพูดในเรื่องนี้ ประเทศเรานั้นมีกฎระเบียบในการป้องกันปรมาณูอย่างไร ความจริงแล้วเรื่องพลังงานปรมาณูได้บูมขึ้นประมาณ พ.ศ. 2488 ซึ่งมีการใช้ระเบิดปรมาณูครั้งแรกที่ฮิโรชิมา นางาซากิ หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี คือ พ.ศ. 2496 รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาคือ ประธานาธิบดี ไฮเซ่นฮาว คิดว่า เราอย่ามาสร้างสรรระเบิดปรมาณูในการทำลาย เราควรช่วยกันทำในทางสันติดีกว่า จึงสร้างโครงการ Atom For Peace ขึ้น ซึ่งไทยก็เข้าร่วมโครงการนั้นในปี พ.ศ. 2497 ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำ 2 คำก่อน ซึ่งยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมากคือ สารรังสีหรือสารกัมมันตภาพรังสี และกัมมันตภาพรังสีหรือรังสี
วิทยากรได้เปรียบเทียบให้เห็นดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงแดดออกมาตลอดเวลาเหมือนสารรังสีหรือสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งแผ่รังสีออกมาตลอดเวลาเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงรังสีแล้วก็ต้องมีสารรังสีเปล่งออกมา ดังนั้นที่ท่านกลัวเรื่องเซ็อร์โนบิลนั้น ก็คือท่านกลัวเรื่องสารรังสีที่แผ่ออกมา ฉะนั้นทั้งสองประเด็นนี้ท่านต้องแยกออกจากกันให้เด่นชัด คำว่า "สารรังสี" นั้น ท่านอย่านึกว่าท่านอยู่ในที่นี้แล้วท่านจะไม่พบ สารรังสีมี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเกิดในธรรมชาติ ซึ่งในตัวท่านเองก็มี อีกประเภทหนึ่งคือมนุษย์ทำขึ้น เรียกว่า Man-Made
การเปรียบเทียบสารรังสีกับหลอดไฟ แสงสว่างจากหลอดไฟสามารถมองเห็น รู้สึกได้ แต่สัมผัสไม่ได้ ขณะที่สารรังสีไม่สามารถมองเห็น รู้สึกไม่ได้ และสัมผัสไม่ได้ ถ้าใช้แผ่นกระดาษบาง ๆ แสงสว่างยังส่องผ่านได้ แต่กรณีสารรังสีนั้น รังสีแอลฟา จะผ่านไม่ได้ แต่รังสีเบต้า และแกมม่า ผ่านได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันหนึ่งในการกำจัดสารรังสีประเภทหนึ่งได้ ถ้าใช้กระดาษแข็งแสงสว่างอาจจะลอดได้นิดหน่อยหรืออาจจะทึบไปเลย แต่กรณีรังสีแล้ว รังสีเบต้าจะถูกดูดไว้ แต่รังสีแกมม่าสามารถทะลุได้จากการทราบเช่นนี้ ทำให้เราสามารถป้องกันรังสีประเภทใดประเภทหนึ่งได้
ประเทศไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ในปี พ.ศ. 2504 ทางสภาก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งออกมา ซึ่งทำให้เกิดสององค์กรคือ คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยคณะกรรมการปรมาณูเป็นผู้สร้างนโยบายให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเป็นผู้ปฏิบัติ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของสำนักงานพลังงานปรมาณูแล้ว กองสุขภาพกองขจัดกากกัมมันตภาพรังสี กองการวัดกัมมันตภาพรังสี ทั้ง 3 กองนี้มีหน้าที่ควบคุม และป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งภายในและภายนอก สำหรับโครงการเตรียมการโรงไฟฟ้าปรมาณู ที่คิดว่าจะสร้างนานแล้วประมาณ 14-15 ปีนั้นก็ยังไม่ได้สร้าง จึงได้ปรับโครงการนี้เป็นศูนย์กำกับความปลอดภัยโรงงานนิวเคลียร์ขึ้น ซึ่งหมายความว่าในสำนักนี้มีทั้งสองรูปแบบคือ หน่วยปฏิบัติ และหน่วยควบคุมในตัวเองด้วย
สภาวะสิ่งแวดล้อมของโลก : สารพิษ 
ความจริงเรื่องกรีนเฮ้าส์ เอฟเฟค (Greenhouse Effect) กับการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศค่อนข้างเกี่ยวข้องใกล้เคียงกัน เพราะว่าการใช้สารประเภทฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) ที่เป็นพวกคาร์บอนและมีอะตอมของฮาโลเจน (Halogen) อยู่ด้วย เช่น ฟลูออรีน (F) (C1) โบรมีน (Br) จะทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ซึ่ง คุณนิตยา (ผู้อำนวยกองอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข) ได้อธิบายถึง mechanism ของการทำลายแล้ว
ในเมื่อปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียหายกับโลกที่ประชากรทั้งโลกจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ใจจริง ผมไม่อยากพูดว่า คนทั้งโลกจะต้องรับผิดชอบเพราะประเทศไทยเราไม่ได้เป็นผู้ผลิต และผู้ขาย เรามีแต่อิมปอร์ต (Import) เข้ามาร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเป็นผู้ใช้อย่างเดียว แต่ประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายเป็นผู้ขาย เป็นผู้มีรายได้ ประมาณร้อยละแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์จากการค้าสาร CFCs ทั่วโลก ดังนั้นน่าจะเป็นหน้าที่ของประเทศเหล่านี้ที่จะต้องรับผิดชอบ แล้วผู้เป็นคนก่อให้เกิดปัญหาแก่ชาวโลก มาเรียกร้องให้เราให้ความร่วมมือกับเขาในการแก้ปัญหา ทั้ง ๆ ที่เขากอบโกยไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเป็นประเด็นที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายน่าจะรับผิดชอบเต็มที่ เขาเองก็บอกเขารับผิดชอบ แต่เวลาเราจะขอความช่วยเหลือด้านการเงินเขาควักยากมาก เรื่องการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศนี้ เขามีความร่วมมือในระดับนานาชาติตามพิธีสารเรียกว่า มอนทรีออล โปรโตคอล (Montreal Protocal) และประเทศไทยเราได้ลงนามเป็นสมาชิกของพิธีสารนั้นแล้วเมื่อ 15 กันยายน 2531 ทุกครั้งที่มีการประชุมประเทศเราก็จะส่งตัวแทนไปร่วมด้วย ผลการประชุมปรากฏว่าเขาจะควบคุมการใช้สารฮาโลคาร์บอน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายกรุ๊ป เช่น ซีเอฟซี เฮลอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ เมธิลคลอโรฟอร์ม และอื่น ๆ
HCFC (Hydrochlorofluorocarbon) และ HFC (Hydrofluorocarbon) เป็นสารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศทั้งนั้น แต่ potential ในการทำลายต่างกับ CFCs มาก สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่าชาวโลกใช้สารซีเอฟซีฟุ่มเฟือยมากและสารซีเอฟซีนี้ คุณนิตยา ได้อธิบายแล้วว่า เป็นก๊าซเฉื่อย ซึ่งสามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศทั้งระดับล่างและระดับบนเป็นเวลานาน นอกจากทำลายโอโซนแล้วยังเป็นกรีนเฮ้าส์กาซ (Greenhouse Gases) ด้วย หลังปี ค.ศ. 2000 จะไม่มีการใช้ CFCs ประเทศที่ผลิตก็จะเลิกผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร CFCs ก็จะเปลี่ยนไปใช้สารชนิดอื่น สารที่เขาจะใช้ทดแทนได้แก่ สารประเภทที่อยู่ในกรุ๊ปใกล้เคียงกัน ซึ่งผมได้เอ่ยแล้วได้แก่สาร HCFC และสาร HFC หลักการก็คือตัว CFCs มี่คลอรีนหลายตัว ในเมื่อคลอรีนสร้างปัญหาเขาก็พยายามลดอะตอมของคลอรีนลงบ้าง โดยผลิตสารใหม่ที่เอาอะตอมของไฮโดรเจนเข้าไปแทนที่คลอรีนก็กลายเป็น HCFC และส่วน HFC เป็นสารที่มีฟลูออรีนอย่างเดียวไม่มีคลอรีน ก็ลดตัวทำลายโอโซนลงไปได้ potential ในการทำลายโอโซนในบรรยากาศก็ลดน้อยลง ส่วนใหญ่จะต่ำกว่าหนึ่ง อย่างไรก็ตามในอนาคตหลังจากปี 2000 ไปแล้วอีก 60 ปี สารทดแทนนี้จะถูกควบคุมและเลิกใช้เลิกผลิตเหมือนกัน สารทดแทนสองชนิดนี้ ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผลิตได้แล้ว แต่ไม่รู้จะผลักดันออกสู่ตลาดได้อย่างไร ในเมื่อ CFCs ราคาถูกกว่า คุณภาพก็ดีกว่า และค่อนข้างจะมีพิษต่อสุขภาพน้อยมาก ปลอดภัยจากการใช้ แต่ทำลายโอโซนในบรรยากาศและเป็นกรีนเฮ้าส์กาซเท่านั้นเอง นโยบายการผลักดันสารตัวใหม่ออกสู่ตลาด ก็ถือโอกาสยกเรื่องโอโซนในชั้นบรรยากาศถูกทำลายเป็นสาเหตุ เพื่อจะผลักสารทดแทนเหล่านี้ออกสู่ตลาดโลก ให้คนที่ใช้ CFCs เลิกใช้หันมาใช้สารทดแทนชนิดใหม่ซึ่งมีราคาแพงกว่า คุณภาพก็แย่กว่าด้วย รู้สึกว่าจะมีเชิงเศรษฐกิจ (Environmental Economics) ในระดับโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประเทศไทยในฐานะประเทศซึ่งนำเข้าอย่างเดียวก็ต้องระวังในเรื่องนี้ด้วย ต้องหูตากว้างอย่าไปเชื่อมากนัก
สำหรับมาตรการที่จะป้องกันในเรื่องนี้ ในระดับระหว่างประเทศ เราให้ความร่วมมืออยู่แล้วและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะรับผิดชอบมอนทรีออล โปรโตคอล โดยตรงได้ทำบางสิ่งบางอย่างเช่นสาร CFC-113 ที่ใช้เป็น cleaning reagent สำหรับล้างพวกโลหะและแผงวงจรไฟฟ้าเพราะสารนี้เป็น solvent ที่ละลาย oil, grease และ wax ได้ดีมาก ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิคส์ อุตสาหกรรมโลหะ และอื่น ๆ ในต่างประเทศเขาเริ่มจำกัดการใช้เพื่อลด consumption ของเขา เขาพยายาม drain สารเหล่านี้มาเพิ่ม consumption ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา เพราะประเทศของเราใช้น้อย เขารู้สถิติจากเจนีวาว่าปริมาณการใช้ของเรายังต่ำมาก เขาจะ add ให้เรา โดยย้ายโรงงานที่ใช้สารเหล่านี้มาอยู่ประเทศเรา ในระยะหลังรู้สึกผิดสังเกตว่า โรงงานที่ใช้สารพวกฮาโลคาร์บอน พยายามจะเข้ามาลงทุนในไทย จริง ๆ แล้ว CFC-113 ยังไม่มีสารอะไรที่จะทดแทนได้ดี แต่ว่าหลาย ๆ รายได้หันไปใช้ methyl chloroform แทน ซึ่ง methyl chloroform นี้ค่อนข้างจะ less toxic แต่ว่าเป็นสารประเภทควบคุมโดย มอนทรีออล โปรโตคอลเหมือนกัน เมื่อก่อนประเทศไทยเราไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลยเพราะทุกครั้งที่เขาตั้งโรงงาน เราพิจารณาสารที่ใช้เป็นพิษเป็นภัยกับคนงานมากน้อยแค่ไหน เป็นพิษอันตรายต่อคนมากน้อย แต่สมัยนี้เราไม่ได้พิจารณาเพียงเท่านั้น เราก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง คือ เราจะต้องพิจารณาถึงการปกป้องบรรยากาศโลกด้วย เพราะว่าเราไปเข้าเป็นสมาชิกของมอนทรีออล โปรโตคอล เสียแล้ว เราก็ต้องให้ความร่วมมือกับเขาตามสมควร โดยส่วนตัวแล้วสิ่งที่ผมได้ทำ เวลาเขาขออนุญาตตั้งโรงงานประเภทใช้สาร CFCs เข้ามา หรือสารพวกฮาโลคาร์บอนเข้ามา ถ้าเขาจะส่งมาให้ผมพิจารณา ผมเห็นว่าเราน่าจะลด emission ของมัน โลหะที่เขาเอาไปล้าง CFCs แล้ว ก็จะสะอาด ในขณะผึ่งให้แห้ง CFCs จะระเหยออกไปหมดเพราะว่าเป็นสารระเหยง่ายจะออกสู่บรรยากาศหมด โรงงานที่ตั้งระยะหลัง ผมใคร่เสนอว่าจะต้องจับสารระเหยทุกตัวกลับเข้าเครื่องกลั่น ซึ่งใช้ความเย็นแล้วเอากลับมา ใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อลด emission สู่บรรยากาศ
สำหรับ CFCs ที่เป็นกรีนเฮาส์แกสนั้น เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว CFCs จะมี contribution ต่อ global warming ประมาณ 0.8 องศาเซลเซียล ในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์จะมี contribution ถึง 1.5 องศาเซลเซียล ใน model ที่ทางสหประชาชาติทำไว้ อุณหภูมิโลกเราจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 องศาเซลเซียล คาร์บอนไดออกไซด์มี contribution ครึ่งหนึ่งแล้วแกสตัวอื่น ๆ เช่น โอโซน ไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากธรรมชาติ มีเทนซึ่งเกิดจากการย่อยสลายประเภท anaerobic digestion เหล่านี้เราค่อนข้างจะควบคุมยาก แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ง่ายที่สุดคือ สาร CFCs ที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งมนุษย์ผลิตขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างขึ้นมามนุษย์จึงคิดว่ามนุษย์ควรจะควบคุมสารนี้ได้ง่ายกว่าสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติดังกล่าวแล้ว ดังนั้นจึงตกลงกันว่าจะควบคุมสาร CFCs ซึ่งจริง ๆ แล้วประเด็นที่สำคัญเราจะต้องดูที่คาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพราะว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น คาร์บอนไดออกไซด์จะมีประสิทธิภาพในการดูดความร้อนได้ดี ปรากฏว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เราหายใจ มีความสัมพันธ์กับปริมาณเชื้อเพลิงประเภทสาร อินทรีย์ ที่เรานำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียม และมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น วิธีแก้ปัญหาจะต้องแก้ที่ต้นเหตุในเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เราจะต้องพยายามลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ วิธีลดก็คือจะต้องพยายามสนับสนุนเอาอะไรก็ได้ที่จะมาดูดคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ได้ อย่างเช่น การส่งเสริมการปลูกป่า ส่งเสริมการพิทักษ์ป่า เพราะว่าต้นไม้จะมีการสังเคราะห์แสง ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบ อย่างหนึ่งที่ใช้ในการสังเคราะห์อาหาร ต้นไม้เขียว ๆ จำนวนมากช่วยกันดูดคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยายกาศก็จะลดลง ปัญหาขณะนี้ก็คือเรากำลังทำลายต้นไม้กันมาก สิ่งที่จะนำคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศไปใช้จึงน้อยลง และอีกประการหนึ่งเมื่อโอโซนถูกทำลาย รังสีอุลตราไวโอเลต-บี ก็เพิ่มขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในน้ำ อย่างเช่น พวกไมโคร แพลงค์ตอน เป็นต้น พวกนี้เป็นพื้นฐานในวงจรอาหาร เมื่อถูกกระทบเสียหายก็จะมีปัญหาในเรื่องการผลิตอาหาร และไมโคร แพลงค์ตอน จะต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์ด้วยในการสังเคราะห์แสงของมัน เมื่อมันถูกทำลายโดย UVB สิ่งที่จะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ก็จะลดไปด้วย ในขณะที่ป่าไม้ก็ลด และไมโครแพลงค์ตอนก็ถูกทำลาย คาร์บอนไดออกไซด์จึงเหลือเฟือในบรรยากาศ ดังนั้นก็จะต้องช่วย ๆ กันปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ผมสนับสนุนเต็มที่ บ้านใครมีพื้นที่ว่างก็ปลูกกันเลย